vertical_align_top
keyboard_arrow_leftย้อนกลับ

อัปเดตสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 33 ที่ต้องรู้

schedule
share
ที่มารูปภาพ : https://pixabay.com/th/photos/ผหญง-เปา-จมก-สบลอนด-หญง-698964/

           อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสถานประกอบการเอกชนต้องทำประกันสังคม มาตรา 33 ให้กับลูกจ้างทุกคน แต่ประกันสังคมมาตรานี้มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง insurverse มีอัปเดตมาฝาก

ทำความรู้จักประกันสังคม มาตรา 33

           ประกันสังคมมาตรา 33 หรือ ม.33 เป็นประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและพนักงานบริษัทเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่ออยู่ในสถานะลูกจ้างของสถานประกอบการที่ทำประกันสังคมและมีเงินเดือนขั้นต่ำที่เดือนละ 1,650 บาท สำหรับการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 มีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่

  1. ลูกจ้างหรือผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมอัตรา 5% ของเงินเดือน แต่ถึงอย่างนั้นประกันสังคมได้กำหนดขั้นต่ำที่ 83 บาทต่อเดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นต่อให้เงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ทางประกันสังคมจะหักไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น สำหรับการจ่ายเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง นายจ้างจะเป็นผู้หักจากเงินเดือนของลูกจ้างทุกเดือน 
  2. นายจ้าง จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมอัตรา 5% ของเงินเดือนของลูกจ้าง ในอัตรา 83 บาทต่อเดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือนเช่นเดียวกัน แต่นอกจากนายจ้างต้องทำหน้าที่หักเงินสมทบจากเงินเดือนของลูกจ้างแล้ว ยังมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบทั้งสองส่วนและจัดทำ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส.1-10 ส่วนที่ 2 หรือทำข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งให้กับประกันสังคมด้วย
  3. รัฐบาล จ่ายสมทบเพิ่มให้อัตรา 2.75 ของเงินเดือน

สิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 33

           คนที่สงสัยว่าจ่ายประกันสังคม มาตรา 33 แล้วได้อะไรบ้าง คำตอบคือผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งสิ้น 7 กรณี ดังนี้

  1. การรักษาพยาบาล

           กรณีมีอาการเจ็บป่วยทั่วไปผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ทั้งในฐานะผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่วนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยวิกฤตสามารถเข้ารับการบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่ต้องสำรองจ่ายได้ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังได้รับความคุ้มครองทันตกรรมสูงสุดปีละ 900 บาท

  1. คลอดบุตร

           ผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินค่าคลอดบุตรสูงสุด 15,000 บาทต่อครั้ง อีกทั้งยังได้รับเงินสงเคราะห์จากการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน โดยสามารถเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ประกันตนชายได้รับค่าคลอดบุตร 15,000 บาท เมื่อมีบุตรกับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ทั้งนี้ผู้ประกันตนหญิงและชายสามารถเบิกค่าตรวจและค่าฝากครรภ์เท่ากันสูงสุดที่ 1,500 บาท

พรบ รถยนต์

  1. เงินสงเคราะห์บุตร

           นอกจากจะได้ค่าคลอดบุตรแล้ว ผู้ประกันตนที่มีบุตรจะได้รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาทต่อเดือน ถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ แต่ได้รับครั้งละ 3 คนเท่านั้น หากมีบุตรคนที่ 4 จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้

  1. ทุพพลภาพ

           การรับเงินชดเชยกรณีทุพพลภาพจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งในกรณีที่ไม่รุนแรง (ร้อยละ 35 – 49 ของร่างกาย) จะได้รับเงินชดเชยในอัตรา 30% ของรายได้ หรือตามรายได้ที่ลดลงตามจริง ไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง ตามมาตรา 57 โดยได้รับไม่เกิน 180 วัน แต่กรณีทุพพลภาพมากกว่าร้อยละ 50% ของร่างกายขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างในทุกเดือนไปตลอดชีพ

  1. เสียชีวิต

           หากผู้ประกันตนเสียชีวิตทายาทสามารถยื่นขอรับเงินสมทบและเงินค่าปลงศพกับประกันสังคมได้ โดยกรณีที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 -120 เดือน ได้รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน และเงินค่าปลงศพ 50,000 บาท แต่กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 120 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน และเงินค่าปลงศพ 50,000 บาท

  1. ชราภาพ

           การจ่ายเงินชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่ทำประกันสังคม มาตรา 33 เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์  สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือได้รับวินิจฉัยว่าทุพพลภาพ มีด้วยกัน 2 กรณี คือ เงินบำนาญหรือการจ่ายเงินเป็นรายเดือนตลอดชีพให้กับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนขึ้นไป และเงินบำเหน็จหรือการจ่ายเงินก้อนครั้งเดียวให้กับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน และกรณีที่ผู้รับเงินประเภทเงินบำนาญเสียชีวิตหลังได้รับสิทธิ์ภายใน 60 เดือน

  1. ว่างงาน

           ตามข้อกำหนดของประกันสังคม มาตรา 33 ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยได้ทั้งกรณีถูกบอกเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือว่างงานจากเหตุสุดวิสัย โดยกรณีถูกเลิกจ้างได้รับเงินชดเชยในระหว่างที่ยังหางานไม่ได้ 70% ของค่าจ้างเดิม รวมกันไม่เกิน 200 วัน กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างเดิม รวมกันไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเดิม รวมกันไม่เกิน 90 วัน และอย่าลืมแจ้งว่างงานด้วยนะ!

ขั้นตอนการยื่นขอรับเงินชดเชยในกรณีต่าง ๆ

           สำหรับขั้นตอนการยื่นขอรับเงินชดเชยตามสิทธิประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ สามารถยื่นได้ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมและช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-self services) โดยแต่ละแบบมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ยื่นคำร้องด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคม

           ผู้ประกันตนยื่นแบบขอรับเงินคืนและส่งเอกสารตามประเภทที่ต้องการรับเงินชดเชยให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจเอกสารและเสนอให้ผู้มีอำนาจลงนาม หลังจากอนุมัติเจ้าหน้าที่การเงินจะบันทึกและจะดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตน สำหรับข้อดีของการยื่นคำร้องด้วยตัวเองคือความรวดเร็วและความถูกต้องเพราะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือด้านเอกสาร

  • ยื่นคำร้องผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-self services)

           ผู้ประกันตนสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ www.sso.go.th เลือกเมนูบริการด้วยตนเองผ่านระบบ e-Self Service ตามด้วยเมนูขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม เลือกประเภทเงินชดเชยที่ต้องการ กรอกข้อมูลและอัปโหลดเอกสารให้ครบถ้วน จากนั้นรอการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่าข้อดีของการยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หนีไม่พ้นความสะดวกสบาย แต่ต้องรอการพิจารณานานกว่า

           เป็นอย่างไรบ้างสำหรับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม มาตรา 33 ที่เรานำมาฝาก ซึ่งหากใครที่ถือมาตรานี้อยู่อย่าลืมอัปเดตข้อมูลเพื่อไม่พลาดสิทธิประโยชน์ของตัวเอง และสำหรับท่านใดที่ต้องการความคุ้มครองในด้านอื่น ๆ มากกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคม แนะนำให้ทำ ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองตามที่คุณต้องการเพิ่มเติม โดยเฉพาะการทำ ประกันภัยรถยนต์ เนื่องจากคนวัยทำงานส่วนใหญ่มักต้องใช้รถขับขี่เพื่อไปทำงาน การมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมจะช่วยให้คุณเดินทางไปทำงานได้อย่างอุ่นใจมากยิ่งขึ้น 

check_circleคัดลอกลิงก์เรียบร้อย

© Copyright 2023 บริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน)