vertical_align_top
keyboard_arrow_leftย้อนกลับ
เกษียณอายุประกันสังคม

เกษียณอายุประกันสังคมได้เท่าไร คำนวณยังไง เรามีคำตอบ!

schedule
share
ที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/free-photo/elderly-couples-talking-together-plant-trees-pots_4107969.htm

การเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณเป็นสิ่งที่คนวัยทำงานไม่ควรมองข้ามและควรเตรียมตัวให้ครบรอบด้าน หนึ่งในนั้นก็คือตรวจสอบสิทธิเกษียณอายุประกันสังคมว่าหลังเกษียณแล้วคุณจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรจากการเป็นผู้ประกันตนบ้าง ต้องส่งเงินประกันสังคมกี่เดือนจึงได้เงินเกษียณ พร้อมคำนวณเงินเกษียณที่จะได้รับเพื่อให้สามารถวางแผนชีวิตได้อย่างสบายใจมากที่สุด

สิทธิประกันสังคมสำหรับวัยเกษียณมีอะไรบ้าง

การรับสิทธิเกษียณอายุประกันสังคม ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญที่อายุ 55 ปี หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับบำนาญชราภาพจ่ายแบบรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราส่วนร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่หากจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

นอกจากนี้หากผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี เงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตนจะถูกย้ายสิทธิ์รับเงินไปยังทายาท โดยระยะเวลาที่ทายาทจะได้รับเงินนั้นนับตั้งแต่หลังจากผู้ประกันตนเสียชีวิตไปจนครบ 60 เดือน หรือ 5 ปี

จ่ายประกันสังคมกี่เดือนได้เงินเกษียณ

หากต้องการรับสิทธิเกษียณอายุประกันสังคม ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม โดยจะได้รับบำนาญอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาส่งเงินสมทบทุก 12 เดือน

ตัวอย่างเช่น หากส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 27.50% หรือส่งเงินสมทบ 25 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 35.00% เป็นต้น ดังนั้นยิ่งเริ่มส่งเงินสมทบเร็วก็ยิ่งได้รับผลประโยชน์จากเงินบำนาญชราภาพสูงขึ้นด้วยนั่นเอง

ประกันสังคมเกษียณอายุ 55 ได้เท่าไหร่ พร้อมวิธีคำนวณ

ใครที่ต้องการตรวจสอบว่าเมื่อเกษียณแล้วจะได้รับเงินเกษียณอายุประกันสังคมเท่าไหร่ เรามีวิธีคำนวณง่าย ๆ มาฝาก ดังนี้

ตัวอย่างการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กรณีนาย ก ผู้ประกันตนเงินเดือน 15,000 บาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 240 เดือน (20 ปี) จะคำนวณโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือส่วนเงินสมทบที่ส่งครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ส่วนที่สองจะคำนวณในส่วนของปีที่ 16 – 20 ซึ่งจะได้รับเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

ดังนั้นนาย ก จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม คือ 20% + (1.5 x 5) = 27.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย = 15,000 x 27.5% = 4,125 บาท/เดือน และจะได้รับเงินจำนวนนี้ไปตลอดชีวิต

ส่วนเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพก็คือผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน และต้องดำเนินการภายใน 1 ปี หลังสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน แต่สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หากกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตทายาทสามารถแจ้งรับผลประโยชน์แทนได้ ผู้ที่มีสิทธิรับผลประโยชน์แทน ได้แก่ ลูก สามีภรรยาตามกฎหมาย บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่

นอกจากเงินบำนาญชราภาพแล้ว สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย แจ้งยุติการเป็นผู้ประกันตนแล้วแต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน สามารถรับสิทธิเงินบำเหน็จชราภาพจ่ายเป็นก้อนเดียวได้ หลักเกณฑ์คือหากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะในส่วนเงินสมทบของผู้ประกันตนเอง และหากจ่ายครบ 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน เงินที่ได้รับจะเป็นในส่วนของผู้ประกันตน นายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือนมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะผู้ประกันตนจะได้รับทั้งสิทธิค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีลาออกหรือถูกให้ออกจากงาน สิทธิทันตกรรม และอื่น ๆ รวมถึงได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพอย่างเงินเกษียณอายุประกันสังคมทุกเดือนตลอดชีวิต เป็นทุนตั้งต้นสำหรับคนทำงานที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ ให้คุณเกษียณได้อย่างสุขใจและอุ่นใจมากกว่าเดิม และนอกจากการทำประกันสังคมเพื่อดูแลสิทธิพื้นฐานของตัวเองแล้ว อย่าลืมดูแลความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถ ด้วยการทำ ประกันภัยรถยนต์ ให้ช่วยคุ้มครองความเสี่ยงทุกครั้งที่ขับขี่ สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถเลือกประกันที่เหมาะกับคุณได้ง่าย ๆ ผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ insurverse

check_circleคัดลอกลิงก์เรียบร้อย