vertical_align_top
keyboard_arrow_leftย้อนกลับ

รวมสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 ที่ชาวฟรีแลนซ์ต้องรู้

schedule
share
ที่มารูปภาพ: https://www.freepik.com/free-photo/asian-woman-using-laptop_1368024.htm

           สำหรับคนที่มีงานประจำ มีรายได้ต่อเดือนเข้ามาสม่ำเสมอ แน่นอนว่าทุกคนจะต้องรู้จักประกันสังคมหรือหลักประกันชีวิตสำหรับผู้มีรายได้ที่จะต้องจ่ายเงินสมทบสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ หรือแม้กระทั่งกรณีเสียชีวิต ซึ่งจะต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน โดยนายจ้างจะเป็นผู้ทำหน้าที่หักเงินสมทบจากเงินเดือนของลูกจ้าง แต่สำหรับคนที่มีอาชีพอิสระ ทราบหรือไม่ว่าคุณเองก็สามารถจ่ายเงินสมทบเพื่อรับมือความเสี่ยงเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยจะต้องประกันตนผ่านประกันสังคมมาตรา 40 ที่ออกแบบมาเพื่อคนมีอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ ซึ่งวันนี้ insurverse มีข้อมูลที่คนมีอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ควรรู้มาแนะนำกัน

สิทธิประกันสังคมมาตรา 40 คืออะไร มีสิทธิอะไรบ้าง

           อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมคือการกระจายความเสี่ยง หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นระบบประกันสังคมจะช่วยแบ่งเบาภาระหนักให้กลายเป็นเบา โดยการถือสิทธิประกันสังคมสามารถทำได้แม้ไม่ใช่เป็นผู้มีรายได้ประจำ เพราะคนมีอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ก็สามารถเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคมมาตรา 40 ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นชาวฟรีแลนซ์ไม่ควรพลาดโอกาสนี้ แนะนำให้ถือประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อรับสิทธิที่พึงได้ในอนาคต

           แล้วสิทธิที่พึงได้จากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มีอะไรบ้าง? สำหรับสิทธิของผู้ประกันตนมาตรานี้จะรองรับหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีว่างงาน กรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร หรือแม้แต่เสียชีวิต โดยผู้ประกันตนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองและชดเชยค่าเสียหายตามเงื่อนไขหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น 

คุณสมบัติผู้ถือสิทธิประกันสังคมมาตรา 40

           หากคุณคือฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่กำลังมองหาหลักประกันเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำประกันให้ตนเองแล้ว ต้องบอกว่าประกันสังคมมาตรา 40 คืออีกหนึ่งทางเลือกกระจายความเสี่ยง โดยผู้ที่สามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ผู้ประกันตนต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • ผู้ประกันตนต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
  • ต้องไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
  • ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบตามเงื่อนไขเป็นประจำ เพื่อรักษาสิทธิไว้
  • ผู้ประกันตนต้องเลือกว่าจะจ่ายเงินสมทบรูปแบบใด โดยปัจจุบันมีจำนวน 3 ทางเลือก

           ผู้ประกันตนสามารถสมัครมาตรา 40 ได้ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมทุกสาขา รวมถึงการสมัครผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม สมัครผ่านแอปพลิเคชัน SSO Plus เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 เคาน์เตอร์ธนาคาร ธ.ก.ส. และเครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามประกันสังคมมาตรา 40 และสำเนาสมุดบัญชีหน้าแรก

ประกันสังคมมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบอย่างไรบ้าง

           การจ่ายเงินสมทบตามประกันสังคมมาตรา 40 มีอยู่ด้วยกัน 3 ทางเลือก ผู้สมัครสามารถเลือกได้ตามสมัครใจไม่มีการบังคับ โดยแต่ละทางเลือกมาพร้อมเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบแตกต่างกัน ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน

  • กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 300 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน สูงสุดไม่เกิน 15 ปี
  • กรณีเสียชีวิต รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท และได้รับเพิ่มอีก 8,000 บาท กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน

  • กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 300 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน สูงสุดไม่เกิน 15 ปี
  • กรณีเสียชีวิต รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท และได้รับเพิ่มอีก 8,000 บาท กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต
  • กรณีชราภาพ รับเงินบำเหน็จชราภาพ 50 บาทต่อเดือน สามารถออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน

ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน

  • กรณีเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 300 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสูงสุดไม่เกินครั้งละ 2 คน และรับได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี
  • กรณีชราภาพ รับเงินบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท และสามารถออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน
  • กรณีเสียชีวิต รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท

วิธีเบิกผลประโยชน์ของผู้ถือประกันสังคมมาตรา 40

           ผู้ถือสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 สามารถเบิกผลประโยชน์เพื่อขอรับเงินสมทบคืนได้ ดังนี้

  • ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ ยื่นแบบคำร้องขอเงินคืนตามกรณีต่าง ๆ ทั้งกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ โดยจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาให้ครบ ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง หนังสือที่ทางราชการออกให้ และสำเนาหน้าสมุดบัญชีสำหรับโอนเงิน ทั้งนี้ควรสอบถามรายละเอียดเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อการดำเนินการอย่างรวดเร็ว
  • กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เสียชีวิต ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องจะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบว่ามีสิทธิรับเงินคืน หรือภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน

           สำหรับคนที่ทำอาชีพอิสระหรือสวมบทพนักงานฟรีแลนซ์ แนะนำให้จ่ายเงินสมทบตามประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นกรณีอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร หรือแม้แต่กรณีว่างงาน และหากจะให้ดีแนะนำให้ทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และ ประกันรถยนต์ เพื่อให้รับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ง่ายขึ้น เกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องสำรองจ่าย หมดห่วงเรื่องเงิน โดยประกันจะทำหน้าที่กระจายความเสี่ยง แม้จะประกอบอาชีพอิสระแต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถใช้ชีวิตอย่างอุ่นใจได้เสมอ

check_circleคัดลอกลิงก์เรียบร้อย

© Copyright 2023 บริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน)